โรคฟันผุ ปัญหาเล็กๆที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่

             โรคฟันผุ สัญญาณอันตรายของปัญหาฟัน แล้วฟันผุ คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ต้องอ่านค่ะ

โรคฟันผุ
โรคฟันผุก็คือ โรคของฟันที่มีเนื้อฟันถูกทำลายไป โดยมีการทำลายแร่ธาตุที่เป็น องค์ประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อเหล่านี้ จนทำให้เกิดเป็นรูหรือโพรงที่ตัวฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะลุกลาม ขยายใหญ่และลึกขึ้นเรื่อยๆ เกิดการเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และสุดท้ายอาจต้องสูญเสียฟัน โดยต้องถอนออกไป

โรคฟันผุจัดเป็นโรคติดต่อ เพราะเกิดจากเชื้อโรค และติดต่อกันได้ทางน้ำลาย โดยกระบวนการเกิดโรค จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ตัวฟัน เชื้อจุลินทรีย์ และสภาวะความเป็นกรดภายในช่องปาก

โดยปกติ ภายในช่องปากจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุระหว่างตัวฟัน และแร่ธาตุที่มีอยู่ใน น้ำลายตลอดเวลา โดยจะมีทั้งการสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟัน และการคืนกลับแร่ธาตุสู่ตัวฟัน ในสภาวะที่ สภาพในช่องปากเป็นกลาง ก่อนที่จะเกิดรูผุบนฟันที่มองเห็นได้ ในระยะเริ่มแรกที่มีการสูญเสียแร่ธาตุ ออกจากผิวฟันนั้น หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่าฟันเริ่มเสียความเงามัน มองเห็นเป็นสีขุ่นขาวคล้ายชอล์ก เริ่มจากเป็นจุดขาว และขยายขนาดขึ้นได้ ซึ่งมักพบบริเวณที่เป็นหลุมร่องฟันลึก หรือบริเวณซอกฟัน คอฟัน ที่มีคราบจุลินทรีย์ สะสมไว้มาก ซึ่งหากสังเกตเห็นได้ทัน จะสามารถหยุดยั้งการลุกลามของการเกิดฟันผุนี้ได้

ผลเสียของการเกิดโรคฟันผุ

โรคฟันผุระยะเริ่มต้นยังไม่ก่อให้เกิดอาการ เสียวหรือเจ็บปวด มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวฟัน เห็นเป็นจุด หรือฝ้าขาวขุ่นคล้ายชอล์ก ซึ่งถ้า สังเกตเห็น หรือตรวจพบแต่เนิ่นๆ แล้ว จะสามารถ รักษาไม่ให้เกิดเป็นรูผุได้ แต่ถ้าต่อไปรักษาไม่ได้แล้วละก็ จะเกิดการทำลายของเนื้อฟันต่อไป ตามลำดับ ดังนี้คือ

ฟันผุระยะที่ 1   เริ่มเห็นเป็นรูผุที่ผิวฟันอาจมี สีเทาหรือดำ มีสีขาวขุ่นรอบๆ ระยะนี้ยังไม่มีอาการใดๆ
ฟันผุระยะที่ 2   รูฟันผุลุกลามกว้าง และลึกขึ้นเข้าสู่ชั้นเนื้อฟัน ใกล้โพรงประสาทเกิดอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารหวานหรือน้ำเย็น
ฟันผุระยะที่ 3   รูฟันที่ผุลุกลามลึกลงไป ถึง โพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของประสาทรับความ รู้สึก ทำให้ปวด เคี้ยวไม่ได้
ฟันผุระยะที่ 4   การอักเสบลุกลามออกไป รอบตัวฟัน ถึงอวัยวะรอบตัวฟัน อาจเกิดฝี หนอง ฟันโยก ปวด เคี้ยวไม่ได้

เมื่อไม่สามารถรักษาฟันซี่ที่ผุไว้ได้ ต้องถอนฟันซี่นั้นออก ทำให้เกิดการต้องสูญเสียฟัน และมีปัญหาอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

Caries-02

โรคฟันผุเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลายสะสมกันจนเป็นคราบเหนียวที่เรียกว่า คราบฟัน หรือคราบแบคทีเรีย ซึ่งจะเกาะอยู่บนผิวของฟันแบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟัน จนก่อให้เกิดเป็นรู โดยเริ่มจากขนาดเล็กมากๆ ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคฟันผุ

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคฟันผุ
โรคฟันผุมักจะพบได้บ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยมีปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ
– การบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล)
– การดื่มน้ำที่ไม่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ
– อาการปากแห้ง
– การใช้ยาบางชนิด
– การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ

ส่วนใดของฟันที่ผุได้ง่ายที่สุด
อาการฟันผุมักเกิดใน 3 ตำแหน่งดังนี้

1. อาการฟันผุบริเวณพื้นเคลือบฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยว เพราะคราบแบคทีเรียซึ่งมักติดอยู่ตามร่องฟัน มักพบบ่อยในเด็กเนื่องจากการละเลยการแปรงฟันในบริเวณนี้

2. อาการฟันผุระหว่างซอกฟัน เพราะเป็นบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง ซึ่งไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการแปรงฟันเพียงอย่างเดียว

3. อาการฟันผุที่บริเวณรากฟัน เกิดขึ้นจากภาวะเหงือกร่น หรือการสูญเสียของกระดูกฟันอันมีสาเหตุอันสืบเนื่องมากจากโรคเหงือก หรือโรคปริทันต์อักเสบ

อาการบ่งชี้ของโรคฟันผุมีอะไรบ้าง
ฟันผุอาจเกิดขึ้นกับฟันครั้งละหนึ่งซึ่หรือมากกว่านั้นได้ อาการที่พบบ่อยได้แก่

– มีการพบรูหรือรอยผุที่ฟัน

– มีอาการเสียวฟันมากขึ้น (เมื่อดื่มหรือรับประทานอาหารหวาน ร้อนจัด หรือเย็นจัด)

– มีอาการปวดฟัน

– มีเศษอาหารติดบริเวณซอกฟันบ่อยครั้งขึ้น

ระดับความรุนแรงของโรคฟันผุ
1. การเกิดคราบขาวแบคทีเรียจะทำปฏิกิริยากับแป้งหรือน้ำตาล ก่อให้เกิดกรดที่สามารถทำลายผิวเคลือบฟัน เป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียแร่ธาตุ (แคลเซียม) ซึ่งจะปรากฎให้เห็นเป็นคราบสีขาวขุ่นที่ฟัน ระยะนี้ยังสามารถรักษาได้โดยง่าย

2. การผุที่ผิวเคลือบฟัน (enamel) การสูญเสีย แคลเซียมดำเนินต่อไปจนมี การเสื่อมสลายของผิวเคลือบฟัน ระยะนี้ควรได้รับการดูแลรักษาโดยทันตแพทย์

3. การผุที่เนื้อฟัน (dentin) การผุจากผิวเคลือบฟันลุกลามลึกเข้าไปถึงเนื้อฟัน ซึ่งสามารถขยายการผุไปยังฟันซีอื่นๆ ได้

4. การผุลุกลามไปยังโพรงประสาทฟัน (dental pulp) หากอาการฟันผุไม่ได้รับการรักษา การผุจะลุกลามลึกไปถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นแหล่งรวมของเส้นประสาทมากมาย และหากโพรงประสาทฟันเกิดการติดเชื้ออาจเกิดฝีที่ปลายรากฟันได้

การรักษาโรคฟันผุ
ฟันผุมีการรักษาได้ต่างๆ กันไป ตามระยะการเกิดโรคก็คือ การใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ หรือการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ จะช่วยรักษา ฟันที่เกือบจะผุ ให้กลับสู่ปกติได้ โดยแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นประจำ และทิ้งยาสีฟัน นั้นให้คงอยู่ในช่องปากนานขึ้นไม่น้อยกว่า 2 นาที แล้วค่อยบ้วนทิ้ง ก็จะช่วยให้ฟันไม่ผุต่อไปได้ (แต่ สำหรับเด็กเล็กๆ ต้องระวังไม่ให้กลืนยาสีฟัน เพราะอาจเกิดผลเสียได้) คนที่มีการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ หรือติดแน่น หรือผู้ที่ใส่ เครื่องมือเพื่อการจัดฟัน หากไม่ได้ดูแลทำความสะอาดฟันอย่างดี จะทำให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้ง่าย เกิดความเสี่ยงต่อ การเป็นโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบได้เช่นเดียวกัน

อุดฟัน เมื่อฟันผุเห็นเป็นรูชัดเจน อยู่ในระยะที่มีการทำลายเฉพาะถึงส่วนเนื้อฟัน

รักษารากฟัน เป็นการรักษาโรคฟันผุ ที่มีการผุลุกลามเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันแล้ว

ถอนฟัน เมื่อการอักเสบลุกลามไปมาก ไม่เหลือเนื้อฟันที่จะสามารถรักษาฟันซี่นั้น ไว้ได้ต่อไป

การอุดฟัน มีวัสดุ 2 แบบ

1. การอุดฟันด้วยวัสดุอุดที่เป็นโลหะ (อมัลกัม) ราคา900 / ด้าน

2.การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ราคา 1200 / ด้าน

การดูแลตนเองหลังการอุดฟัน

การอุดฟันด้วยวัสดุอุดที่เป็นโลหะ (อมัลกัม)

1.ห้ามเคี้ยวข้างที่อุดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากวัสดุยังแข็งตัวไม่เต็มที่

2.ระยะแรกภายหลังการอุดฟัน มักพบอาการเสียวฟันเมื่อสัมผัสของร้อนหรือของเย็น อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเอง ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่หากมีอาการปวดร่วมด้วยควรพบทันตแพทย์โดยเร็ว

3.ควรทดลองเคี้ยว หากเคี้ยวแล้วรู้สึกสูง ค้ำ สะดุด หรือใช้เคี้ยวไม่ได้ ควรพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจแก้ไขหรอขัดแต่ง ให้สามารถใช้เคี้ยวได้

4.ในรายที่จำเป็นต้องใช้ยาชาเพื่อลดการเสียวฟันขณะกรอฟัน กรณีฟันบนจะชาเฉพาะจุดที่ทำ หากเป็นฟันล่างมักจะชาเป็นบริเวณกว้างกว่า ยาชามีฤทธิ์ประมาณ 1-2 ชม.

5.ฟันที่เคยมีอาการไม่ปกติ หรือฟันที่ผุลึกมาก ภายหลังการอุด อาจมีอาการปวดหรือเสียวรุนแรง เป็นเพราะรอยผุลึกจนใกล้ทะลุ หรือทะลุถึงโพรงฟันแล้ว จึงควรพบทันตแพทย์โดยเร็วเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน

1.ภายหลังการอุดเสร็จ สามารถใช้เคี้ยวได้เลย

2.กรณีอุดบริเวณปลายฟันหน้า ควรเลี่ยงการใช้ฟันหน้าเคี้ยวโดยตรง เพราะเรซิ่นฟันหน้าให้ความสวยงาม แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะใช้เคี้ยว

3.วัสดุสีเหมือนฟันจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ หรือเหลือง เมื่ออุดเป็นเวลานาน

4.หากเคี้ยวแล้ว รู้สึกสูง ค้ำ สะดุด มีอาการเสียวหรือปวด ควรพบทันตแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจแก้ไข หรือขัดแต่งให้สามารถใช้เคี้ยวได้

5.ฟันที่เคยมีอาการไม่ปกติ หรือฟันที่ผุลึกมาก อาจมีอาการปวดหรือเสัยวรุนแรงภายหลังการอุด เป็นเพราะรอยผุลึกจนใกล้หรือทะลุโพรงฟัน จึงควรพบทันตแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การป้องกันฟันผุ

– แปรงฟันวันละ 2 ครั้งด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์หรือมีคุณสมบัติช่วยลดการก่อตัวของคราบแบคทีเรียได้

– การใช้ไหมขัดฟัน หรือ แปรงทำความสะอาดฟอกฟันเป็นประจำ เพื่อทำความสะอาดบริเวณซอกฟันหรือบริเวณที่การแปรงฟันเข้าไม่ถึง

– การบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ออกฤทธิ์ในต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย

– บริโภคอาหารให้เหมาะสมตามหลักโภชนาการ และจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรต

– เข้าพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เป็นประจำ

– การเคลือบหลุมร่องฟัน ก็เป็นอีกวิธีที่ ทันตแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำ

การป้องกันฟันผุ ที่ให้ผลดีที่สุด คือ

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารหวานเหนียวติดฟันที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ
ดูแลรักษาความสะอาดช่องปากให้สะอาดอย่างทั่วถึง สม่ำเสมอ โดยแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกครั้ง
ตรวจสุขภาพช่องปากด้วยตนเองเป็นประจำ
ใช้ฟลูออไรด์เสริมเพื่อการป้องกันฟันผุ

ในเรื่องของอาหาร และสุขภาพช่องปาก เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน เพราะการผ่านอาหารเข้าสู่ร่างกาย อันดับแรก คือ ผ่านจากช่องปาก และเป็นการย่อยอาหารในชั้นแรกๆ ด้วย หากการย่อยเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ ย่อมเกิดผลเสียต่อร่างกายแน่นอน

ฟันจัดได้ว่าเป็นอวัยวะ ที่แข็งแกร่งที่สุดของร่างกาย แต่ก็ยังเกิดการผุกร่อน เสื่อมไปตามสภาพได้ เพราะการกินอาหารไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เมื่อฟันซึ่งเป็นส่วนที่แข็งแรง แต่ก็ยังเสื่อมโทรม ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่อ่อนแอกว่า ก็จะต้องเสื่อมโทรมไปได้ด้วยเช่นกัน การที่ฟันเสีย หรือเหงือกบวมนั้น ต้องใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการ แต่ถ้าเรากินอาหารให้ถูกต้อง และดูแลฟันให้ดี ตั้งแต่เริ่มแรก และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เราก็ไม่ต้องเสียเวลาทำฟัน รักษาฟัน รักษาเหงือกที่แสนจะแพง

สิ่งที่จะมาเสริมสร้างความแข็งแรงของฟันได้ นอกจากจะต้องดูแลรักษาให้ถูกต้องแล้ว ยังจะต้องรู้จักการกินอาหารอีกด้วย สารอาหารประเภทแคลเซียมและฟอสฟอรัส รวมทั้งวิตามินด้วย ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวประกอบให้ฟันเราแข็งแรง และถ้ากินอาหารที่ให้สารอาหารประเภทนี้ไม่พอ ฟันเราก็จะเสียง่าย

โดยปกติแล้ว ถ้าเรากินอาหารครบ 5 หมู่ เราก็จะได้ฟอสฟอรัสเพียงพอ จากการกินอาหาร แต่ปัญหาอยู่ที่แคลเซียม ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ ไม่ได้มีแคลเซียมเสมอไป ร่างกายเราจึงมักขาด โดยเฉพาะเด็กนั้นต้องการมากเป็น 2 เท่าของผู้ใหญ่

อาหารที่มีแคลเซียมมาก ก็คือ น้ำนม เนยแข็ง รองลงมาก็ได้แก่ ผักประเภทกะหล่ำดอก มะเขือเทศ ฟักทอง ผักโขม ตำลึง ใบมะกรูด ใบกระเพาขาว ใบแค ใบบัวบก ใบยอ ใบชะพลู ใบแมงลัก ผักกาดขาว ไข่แดง ปลา ปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งกระดูก กุ้งแห้ง อาหารที่พอจะมีแคลเซียมอยู่บ้างก็เช่น สับปะรด เชอร์รี่ องุ่นแห้ง เห็ด กล้วย ถั่วฝักยาว ถั่วเมล็ดแห้ง งา ปลาร้า

ทันตแพทย์หรือหมอฟัน มักพูดเสมอว่า การรักษาโรคฟันนั้น รักษาง่ายกว่าโรคเหงือก เพราะเหงือกเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน มีหน้าที่หุ้มรากฟัน การที่เหงือกจะสวยไม่คล้ำหรือซีด อาหารแต่ละวันควรกินผลไม้สด ผักสด ซึ่งหากินได้ไม่ยากในบ้านเรา เช่น ส้มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง ส้มจุก ส้มโอ ประเภทอื่นก็เช่น มะนาว มะเขือเทศ มะละกอ ฝรั่ง สับปะรด กระหล่ำปลี แต่วิตามินซีจะถูกทำลายได้ง่าย และจะสูญเสียไป เมื่อปรุงเป็นอาหาร หรือแม้แต่การหั่นซอย และการทิ้งไว้ให้เหี่ยว มันก็จะสูญไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเลือกกินอาหารที่สดใหม่ ถ้าซอยหรือหั่นแล้วแช่น้ำ วิตามินซีก็จะสูญสลายไปด้วย

เราควรเริ่มดูแลฟัน และเหงือกเสียแต่วันนี้ เพราะเราต้องใช้ฟันขบเคี้ยวอาหารตลอดเวลา หากฟันและเหงือก ไม่สมบูรณ์แข็งแรง เราอาจจะต้องเสียค่ารักษา ที่แพงมากกว่าอาหารแต่ละมื้อ และทุกข์ทรมานด้วย

ข่าวอื่นๆ

เอกซเรย์ฟันสำคัญอย่างไร?

สาระเรื่องฟัน

ยิ้มนี้จะสวยมากกว่าเดิม ด้วยทันตกรรมปิดช่องฟัน

สาระเรื่องฟัน

สุขภาพฟันเด็ก ฟลูออไรด์ต้องเพียงพอ

สาระเรื่องฟัน

ฟันคุดคืออะไร เป็นปัญหากับคุณจริงหรือ?

สาระเรื่องฟัน

เครื่องมือกันฟันล้มวัยเด็ก สำคัญแค่ไหน?

สาระเรื่องฟัน

ทันตกรรมเพื่อความงามด้วยวีเนียร์ (Veneer)

สาระเรื่องฟัน

ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษา หรือสอบถามเส้นทาง