การรักษารากฟันคือ การตัดโพรงประสาทฟัน หรือเนื้อเยื่อขนาดเล็กที่อยู่ใจกลางฟัน ซึ่งเมื่อโพรงประสาทฟันที่ถูกทำลาย อักเสบ หรือตายถูกตัดออก พื้นที่ส่วนที่เหลือก็จะถูกทำความสะอาด จัดรูปทรง และอุด กระบวนการนี้จะเป็นการปิดคลุมรากฟัน เมื่อหลายปีก่อน ฟันที่มีโพรงประสาทฟันอักเสบจะต้องถูกถอนออก แต่ในปัจจุบัน การรักษารากฟันจะช่วยรักษาฟันไว้ได้
มีคนไข้หลายคนละเลยปล่อยฟันให้ผุทิ้งไว้ไม่รักษา และอุดฟันให้เรียบร้อยทำให้โรคฟันลุกลามทำลายฟันมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน เกิดการอักเสบและมีฝีหรือถุงหนองที่ปลายรากฟัน มีอาการปวดทรมาน ทั้งยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค คอยบ่อนทำลายสุขภาพร่างกายอย่างเรื้อรัง จนจำเป็นต้องถอนฟันไปแล้วมิใช่น้อย แต่เมื่อเกิดความต้องการแก้ไขด้วยการรักษาฟันไว้ ไม่อยากถอนออกจากปากก็แทบจะสายเสียแล้ว
แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เกินความสามารถของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยเหลือคนไข้เหล่านั้นได้ เพียงแต่วิธีการรักษาค่อนข้างยุ่งยากและสลับซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทันตแพทย์ทุกคน มิได้ปรารถนาที่จะให้ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นเพราะงานรักษารากฟันเป็นงานที่ลำบากมิใช่น้อย โดยเฉพาะการรักษารากฟันกรามซึ่งมี 3 – 4 ราก ดังนั้นเพื่อให้การรักษาเกิดผลสำเร็จตามความต้องการ จึงจำเป็นต้องเสียเวลาไปพบทันตแพทย์หลายครั้งในการรักษารากฟัน
สาเหตุส่วนใหญ่ของการที่โพรงประสาทฟันถูกทำลายหรือตายได้แก่
- ฟันแตก
- ฟันผุอย่างรุนแรง
- อาการบาดเจ็บของฟัน เช่น การกระแทกอย่างแรงที่ฟัน ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไม่นานหรือในอดีต
เมื่อโพรงประสาทฟันติดเชื้อหรือตาย ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะมีการก่อตัวที่ปลายรากฟันในกระดูกขากรรไกร เกิดเป็นฝีได้ และสามารถทำลายกระดูกรอบๆ ฟันทำให้เกิดอาการปวด
เมื่อไร ต้องรักษารากฟัน
- ฟันผุที่ลึกมากจนทะลุโพรงฟัน
- ฟันแตก หรือหักทะลุโพรงฟัน
- ฟันแตก หรือหักไม่ทะลุโพรงฟัน แต่เนื้อฟันที่เหลืออยู่ไมาสามารถบูรณะได้
- มีหนองเกิดขึ้นบริเวณปลายราก
- ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนอย่างรุ่นแรงจนเกิดการอักเสบ หรือการตายของเนื้อเยื่อในโพรงฟัน
ปกติเนื้อเยื่อในโพรงฟัน สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคและต้านทานการอักเสบที่ไม่รุนแรงได้ แต่เมื่อการอักเสบหรือการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เช่น กรณีที่ฟันผุลึกมาก ฟันถูกกระแทกแรงๆจากอุบัติเหตุ ฟันที่แตกหักไปจนทะลุเข้าไปในโพรงฟัน เนื้อเยื่อในโพรงฟันก็จะถูกทำลาย และเน่าตายไปในที่สุด
เงาดำที่ปลายรากฟัน
สำหรับบางคนในภาพเอกซเรย์จะเห็นว่า มีเงาดำที่ปลายรากทั้งๆ ที่ฟันซี่นั้นยังไม่มีอาการอะไรเลย บ่อยครั้งที่ เรามักจะพบว่า กรณีที่ทันตแพทย์อุดฟันอยู่ซี่หนึ่งและจะทำการตรวจการผุของฟัน เมื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ผลก็คือ พบว่ามีเงาดำอยู่ที่ปลายรากฟันอีกซี่หนึ่ง เงาดำที่ปลายรากฟันนั้นหมายถึง เชื้อโรคนั้นมีการลุกลามไปจนกระทั่งทำลายส่วนของเนื้อเยื่อทั้งโพรงประสาท ฟันแล้ว ลักษณะแบบนี้ก็จำเป็นที่จะต้องรักษารากฟันแม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม และส่วนใหญ่จะมีทางเปิดของหนองออกมาด้วย
ถ้าเป็นฟันตายทุกกรณีต้องรักษารากฟัน
ฟันตาย ก็คือ ฟันที่ไม่มีชีวิต ไม่มีอาการ ฟันเปลี่ยนสี หรืออาจมีตุ่มหนองด้วย ส่วนฟันที่ยังมีชีวิตอยู่ กรณีที่ต้องรักษารากฟัน ทันตแพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัย ถ้ามีอาการแบบปวดตุบๆ เวลากลางคืน ก่อนนอน และอาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็มักจะพบว่าฟันซี่นั้นเป็นอาการประสาทฟันอักเสบที่ไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ ฟันประเภทนี้ต้องทำการรักษารากฟันในฟันที่มีชีวิต
ในบางครั้งฟันดูแล้วไม่ผุ แต่คนไข้มีอาการนอนกัดฟันรุนแรง หรือมีอาการเคี้ยวที่ค่อนข้างรุนแรง กัดเค้นฟัน ใช้ฟันรุนแรงมาก ซึ่งเป็นการไปรบกวนโพรงประสาทฟัน ฟันจะเริ่มมีอาการร้าวก่อน แล้วก็มีการแทรกซึมของเชื้อโรคเข้าไปในส่วนของโพรงประสาทฟันได้ แบบนี้ก็อาจจะต้องทำการรักษารากฟัน ถ้าหากว่าฟันซี่นั้นเราไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่มากระตุ้นได้ทันท่วงที? เช่น มีจุดสบสูง และสบฟันกระแทกอย่างรุนแรง หรือการที่อะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถเอาสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ออกไปได้ทันท่วงที ก็หมายความว่าจะทำให้มีการแทรกซึมของเชื้อโรคนั้นเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นต้องรักษารากฟัน
เพราะฉะนั้นจึงแนะนำว่าให้ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยจะดีที่สุด? ถ้าหากมีอาการใดๆ ก็ตามที่ส่งผลว่ามีอาการผิดปกติแล้ว เช่น เสียวฟัน หรือกัดแล้วเจ็บ หรือเคาะแล้วรู้สึกคันๆ นั่นแสดงว่า “ควรรีบไปพบทันตแพทย์”
การรักษารากฟันทำอย่างไร
การรักษารากฟันแบ่งเป็น 2 วิธี
1.การรักษาด้วยวิธีปกติ
2.การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดปลายรากฟัน ( หากวิธีที่ 1 ไม่ได้ผล )
ขั้นตอนการรักษารากฟันด้วยวิธีปกติ
1.ทันตแพทย์จะกำจัดเนื้อฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออก
2.ทำความสะอาดรากฟัน และใส่ยาลงไปในคลองรากฟัน
3.ปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
4.บางกรณี เช่น การมีหนองบริเวณปลายรากฟัน อาจจำเป็นต้องใช้เวลาหลายครั้งในการทำความสะอาด และเปลี่ยนยาในคลองรากฟันจนกว่าการติดเชื้อ หรือการอักเสบจะหายเป็นปกติ
5.เมื่อไม่มีการอักเสบของรากฟันแล้ว ทันตแพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันถาวรเพื่อรอการบูรณะตัวฟันต่อไป
6.การบูรณะตัวฟันเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติภายหลังเสร็จสิ้นการรักษารากฟัน ทำได้หลายวิธี เช่นการอุดฟัน การใส่เดือยฟัน ครอบฟัน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่
การรักษารากฟัน
สามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป ดีกว่าการใส่ฟันปลอม เพราะฟันที่รักษารากแล้วก็เหมือนฟันในปากซี่อื่นๆ คือ มีเบ้ากระดูกยึดให้ฟันแน่นมั่นคงแข็งแรง และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม
หลังการรักษารากฟัน เราควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อให้การรักษารากฟันที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้ยืนยาว
1. ภายหลังรักษารากฟันใหม่ๆ โดยเฉพาะในครั้งแรกอาจมีอาการเจ็บได้บ้างใน 2-3 วันแรกและจะค่อยๆ จางหายไปเอง
2. ควรระมัดระวังในการใช้งานซี่ฟันที่รักษาราก เนื่องจากปริมาณเนื้อฟันจะเหลือน้อยลงและฟันจะเปราะมากขึ้นแต่การเคี้ยวอาหารเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เป็นวิธีปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง
3. ระหว่างรักษารากฟันหากวัสดุอุดฟันชั่วคราวเกิดหลุดออกมาให้ผู้ป่วยรีบกลับมา หาทันตแพทย์เนื่องจากเชื้อโรคในช่องปากสามารถเขาสู่ภายในคลองรากฟันได้
4. การรักษาคลองรากฟันเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ตามกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมหากผู้ป่วยละเลยไม่มาตามวันนัด ฟันซี่นั้นอาจจำเป็นต้องถูกถอนออก
การปล่อยฟันที่เป็นโรคทิ้งไว้นาน ๆ ยังทำให้เชื้อโรคออกไปทำลายกระดูกรอบๆ ฟัน ซึ่งทำให้เกิดอาการเคี้ยวเจ็บ หรือ เกิดตุ่มหนองทั้งภายในช่องปาก หรือบริเวณใบหน้า ในกรณีที่กระดูกรองรับฟันถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากอาจทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาฟันไว้ได้
อาการข้างเคียงของการรักษาที่ทันตแพทย์ไม่อยากให้เกิดคืออาการปวดหลังการรักษา เพราะส่วนใหญ่ผู้รับบริการหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อรักษารากฟันแล้วจะต้องหายจากการปวดเป็นอันดับแรก
หลังการรักษารากฟันจะมีอาการปวดซึ่งแบ่งได้ 2 กรณีคือ การปวดระหว่างการรักษาและการปวดหลังจากการรักษาเสร็จสิ้นไปแล้ว
การปวดระหว่างการรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรักษาครั้งแรก เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ อาจร่วมกับการบวมของเหงือกด้วย ส่วนมากแล้วอาการปวดหลังการรักษาครั้งแรกมักเกิดกับการรักษารากฟันในฟันที่มีอาการปวด หรือเริ่มมีอาการปวด (Acute pulpitis)?หรือกำลังเริ่มจะมีการอักเสบ แต่จะไม่ค่อยเกิดในฟันที่ตายแล้ว (pulp necrosis) หรือฟันที่มีตุ่มหนอง (periapical abscess) หรือฟันที่เพิ่งทะลุโพรงประสาทส่วนใหญ่ทันตแพทย์มักจะระมัดระวังในเรื่องการกำจัดเส้นประสาทฟันให้หมด และการขยายคลองรากฟันและการล้างคลองรากฟันโดยไม่ให้เกิดแรงดันที่จะทำให้เศษสิ่งสกปรกที่ล้างทำความสะอาดดันเข้าไปในบริเวณปลายราก แต่บางครั้งก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าคิดว่ามีความเสี่ยง ทันตแพทย์อาจจะต้องเปิดโพรงที่กรอไว้ก่อนเพื่อให้เกิดการระบาย แล้วจึงใส่ยา และปิดโพรงในครั้งต่อไป แต่จะทำให้การรักษาใช้เวลานานขึ้น เนื่องจากการเปิดโพรงไว้จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในน้ำลายได้
อาการปวดหลังการรักษา ถ้าไม่ปวดมากนัก ทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาด ขยายรากฟันหรือกำจัดเส้นประสาทให้หมด ซึ่งจะทำให้หายปวดได้ หากมีอาการบวมด้วย อาจต้องเปิดระบายและให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย หลังการรักษาอาจมีอาการปวดซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ? เช่น คลองรากฟันยังไม่สะอาดแล้วอุด ขยายคลองรากฟันไม่หมดหรือฟันแตก การรักษาอาจต้องมีการรื้อและรักษาใหม่ หรือผ่าตัดปลายรากฟันหรือถ้ารักษาไม่ได้ อาจต้องถอนฟันในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การรักษารากฟันเป็นการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษารากฟันกรามซึ่งมีจำนวนคลองรากฟัน 3-4 โพรง ทำให้ยากต่อการรักษา ทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ป่วยในการมาตามนัด และทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีความละเอียดรอบคอบ
ฟันที่รับการรักษาจะอยู่ได้นานเท่าใด
ฟันที่ได้รับการรักษาหรือฟื้นฟูสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตถ้ามีการดูแลอย่างเหมาะสม เพราะฟันผุยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกในฟันที่รับการรักษาแล้ว สุขอนามัยของปากและฟันที่ดีตลอดจนการพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต