ทำรากฟันเทียมให้สวยน่ามอง ต้องทราบ 6 เรื่องต่อไปนี้

“การทำรากเทียม” เป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการใส่ฟันเสมือนจริงให้ดูเป็นธรรมชาติและสวยงาม ไม่เพียงแค่วัสดุที่ใช้เท่านั้น ที่คุณควรทราบ
ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่จะช่วยให้คุณทำรากเทียมได้อย่างมั่นใจและสวยงาม แค่ 6 ข้อต่อไปนี้ค่ะ

การบูรณะฟันบนรากฟันเทียมให้มีความสวยงามใกล้เคียงฟันธรรมชาตินั้นขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.การประเมินผู้ป่วย ได้แก่การประเมินปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อความสวยงาม
2.การวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ได้แก่การเลือกใช้ขนาดของรากเทียมที่เหมาะสม การเลือกจำนวนของรากเทียมที่เหมาะสม และการกำหนดตำแหน่งของรากเทียมที่เหมาะสม
3.การฝังรากเทียม ได้แก่การฝังรากเทียมในตำแหน่งที่ถูกต้อง การเสริมกระดูก หรือเนื้อเยื่อเพื่อความสวยงาม และการดูแลหลังการผ่าตัดที่ถูกต้อง
4.การปรับรูปร่างและสภาพเหงือก ได้แก่การตกแต่งรูปร่างของเหงือกให้เป็นไปอย่างที่ต้องการโดยอาศัยครอบฟันชั่วคราวบนรากฟันเทียม
5.การบูรณะด้วยครอบฟันบนรากเทียม ได้แก่การเลือกวัสดุที่เหมาะสมสำหรับเป็นแกนยึดครอบฟัน (abutment) การเลือกวัสดุที่ใช้ทำครอบฟัน การตกแต่งรูปร่างของครอบฟัน และการเลือกสีของครอบฟัน
6.การดูแลรักษาสภาพของครอบฟัน และรากฟันเทียมหลังการรักษา
การรักษาด้วยรากฟันเทียมให้มีความสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาตินั้น อาจไม่สามารถทำได้กับผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการประเมินผู้ป่วยก่อนให้การรักษา จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการประเมินผู้ป่วยที่ดี ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ช่วยในการอธิบายแผนการรักษา และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนให้การรักษากับผู้ป่วยได้อีกด้วย การประเมินผู้ป่วยและปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อความสวยงามควรต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

6.1 ความคาดหวัง

ในปัจจุบันการโฆษณารากฟันเทียมตามสื่อต่างๆ มักใช้รูปฟันและสภาพเหงือกที่มีลักษณะสวยงาม ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการทำรากฟันเทียมมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ป่วยมีความคาดหวังว่า รากฟันเทียมที่ได้รับการบูรณะแล้วจะต้องสวยงามเหมือนดังในภาพตามสื่อต่างๆ ดังนั้นทันตแพทย์จะต้องประเมินความคาดหวังของผู้ป่วยให้ดี โดยอาจใช้รูปภาพของผู้ป่วยประกอบ หรือใช้การทำแบบขี้ผึ้งจำลอง (Diagnostic wax-up) เพื่อช่วยในการอธิบายให้คนไข้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆ อาทิเช่น ขนาด และรูปร่างของฟันหลังให้การรักษา เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีความคาดหวังสูงในผลของการรักษา ให้จัดผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

6.2 ประวัติการสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่มีผลต่อความสำเร็จของรากฟันเทียมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว นอกจากนี้ยังมีผลต่อความสำเร็จของการเสริมกระดูกหรือเนื้อเยื่อต่างๆ ตลอดจนมีผลต่อสุขภาพของเนื้อเยื่อรอบๆ รากเทียมในระยะยาวอีกด้วย โดยผู้ป่วยที่สูบบุหรี่อาจมีผลทำให้เหงือกรอบๆ รากเทียมร่น และส่งผลต่อความสวยงามได้ โดยผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนต่อวัน ให้จัดผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

6.3 ความสูงของริมฝีปากในขณะยิ้ม

ผู้ป่วยที่ยิ้มแล้วเห็นฟันหน้าบนและล่างบางส่วนเท่านั้น จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยยิ้มไม่สูง (Low lip line) ผู้ป่วยประเภทนี้จัดอยู่ในผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากริมฝีปากจะช่วยปกปิด บริเวณคอฟัน และขอบเหงือก ซึ่งมักเป็นบริเวณที่มีผลต่อความสวยงามในขณะยิ้มเป็นอย่างมาก

ผู้ป่วยที่ยิ้มแล้วเห็นฟันหน้าบนทั้งซี่ แต่เห็นเหงือกบริเวณคอฟันน้อย หรือไม่เห็นเลย จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยยิ้มสูงปานกลาง (Medium lip line) ผู้ป่วยประเภทนี้จัดอยู่ในผู้ป่วยความเสี่ยงปานกลาง เนื่องจากจะมองเห็นฟันทั้งซี่ ทำให้สามารถเปรียบเทียบสีฟัน ลักษณะความอูมนูนของฟัน และพื้นผิวฟัน ตลอดจนบริเวณเหงือกสามเหลี่ยมระหว่างฟันในขณะที่ยิ้ม

ผู้ป่วยที่ยิ้มแล้วเห็นฟันหน้าบนทั้งซี่ และเห็นเหงือกบริเวณฟันหน้าบนชัดเจน ผู้ป่วยประเภทนี้จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยยิ้มสูง (High smile line) ผู้ป่วยประเภทนี้จัดอยู่ในผู้ป่วยความเสี่ยงสูง เนื่องจากเหงือกรอบๆ รากเทียมจะถูกเปรียบเทียบกับฟันซี่อื่นๆ สัดส่วนความยาว ต่อความกว้างของฟัน จะเห็นชัดเจน

สามารถแบ่งได้เป็นสามประเภทดังนี้

6.4 ลักษณะความหนาของเหงือก

ประเภทเหงือกหนา (Thick-gingival biotype)

เหงือกประเภทนี้มีลักษณะหนา โดยเมื่อสอดเครื่องมือหยั่งร่องลึกปริทันต์ (Periodontal probe) ลงไปในร่องเหงือก จะไม่เห็นเงาของเครื่องมือสะท้อนขึ้นมาบนเหงือก เหงือกประเภทนี้จะบังสีของโลหะของรากเทียม และส่วนต่อรากเทียม (abutment ) ที่เป็นไทเทเนียมได้ดี นอกจากนี้เหงือกประเภทนี้มักไม่ค่อยหดตัวหลังทำการผ่าตัด อย่างไรก็ตามลักษณะเหงือกที่หนา มักจะเป็นแผลเป็นได้ง่ายหลังจากการผ่าตัด รวมทั้งหากต้องทำรากเทียมหลายๆ ซี่ใกในผู้ป่วยที่มีเหงือกประเภทนี้ ต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง โดยควรฝังรากเทียมค่อนไปทางด้านใกล้เพดาน เพื่อให้มีเหงือกและกระดูกด้านใกล้ริมฝีปากที่หนา บังสีของโลหะ นอกจากนี้ ควรทำครอบฟันชั่วคราวเพื่อตกแต่งรูปร่างของเหงือกให้มีความสวยงาม รูปร่างของครอบฟันต้องมีความเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดเหงือกร่น ในบางกรณีจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อเสริมความหนาของเหงือกร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีเหงือกประเภทนี้จัดอยู่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

6.5 รูปร่างของฟันที่ใส่ทดแทนและรูปร่างของฟันข้างเคียง

รูปร่างฟันที่มีลักษณะสี่เหลี่ยม (square shape) ลักษณะรูปร่างฟันประเภทนี้ จะมี Interdental papilla ที่มีลักษณะทู่ และไม่สูงมากนัก ดังนั้นในกรณีที่ทำรากเทียมแล้ว Interdental papilla หดสั้น หรือไม่มี ก็สามารถที่จะทำรูปร่างฟันให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อปิดช่องว่างได้ แต่หากฟันผู้ป่วยมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม (triangular shape) หากต้องการปิดบริเวณช่องว่างโดยการทำให้ฟันมีขนาดใหญ่ขึ้นก็มักทำให้รูปร่างฟันดูมีลักษณะที่ไม่เป็นธรรมชาติได้

6.6 ภาวะการติดเชื้อในบริเวณที่จะฝั่งรากเทียม

หากบริเวณช่องว่างที่จะฝังรากฟันเทียม มีการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน (acute infection) หรือสูญเสียฟันไปเนื่องจากภาวะการติดเชื้อเช่น โรคปริทันต์ มักจะมีการทำลายขอบกระดูก (marginal bone loss) ร่วมด้วย ซึ่งทำให้การฝังรากเทียมมีความยุ่งยากมากขึ้น

ในกรณีที่มีการติดเชื้อชนิดเรื้อรัง (chronic infection) เช่นมีเงาดำรอบปลายรากฟันขนาดเล็ก โดยตรวจไม่พบหนอง มักมีการทำลายกระดูกบริเวณปลายราก แต่หากขอบกระดูกไม่โดนทำลายไปด้วย การฝังรากเทียมร่วมกับการเสริมกระดูกในกรณีนี้มักได้ผลดี

6.7 ปริมาณกระดูกของฟันข้างเคียงบริเวณด้านประชิด

จากการศึกษาของ Tarnow พบว่าหากกระดูกด้านประชิดของฟันห่างจากจุดประชิด (contact point) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5, 6 และ 7 มิลลิเมตร จะมี Interdental papilla ระหว่างฟันกับรากฟันเทียมเกือบ 100% , 55% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Kan ที่พบว่าระยะระหว่างยอดเหงือก บริเวณ interdental papilla จนถึงกระดูกของฟันซี่ที่ติดกับรากเทียมมีค่าเฉลี่ยประมาณ 4.5 มิลลิเมตร

ดังนั้นหากผู้ป่วยมีสันกระดูกของฟันข้างเคียงบริเวณด้านประชิด ห่างจากจุดประชิด (contact point) น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ผู้ป่วยรายนี้จัดเป็นผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำ แต่หากสันกระดูกของฟันข้างเคียงบริเวณด้านประชิดมีระยะห่างจากจุดประชิดมากกว่า 7 มิลลิเมตร จัดเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

6.8 สภาพการบูรณะของฟันข้างเคียง

ในกรณีที่ฟันข้างเคียงช่องว่างได้รับการบูรณะโดยการทำครอบฟัน หรือวีเนียร์ การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมอาจทำให้เกิดเหงือกร่นตามมา จนทำให้ขอบของครอบฟันขึ้นมาอยู่เหนือขอบเหงือก ดังนั้นอาจต้องพิจารณาทำครอบฟันบนฟันธรรมชาติร่วมด้วย โดยต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนเริ่มการรักษา

6.9 ลักษณะของช่องว่างไร้ฟัน
ช่องว่างที่มีขนาดสำหรับใส่ฟันหลายซี่ ย่อมทำให้สวยงามได้ยากกว่าช่องว่างสำหรับใส่ฟันซี่เดียว เพราะช่องว่างที่มีขนาดสำหรับใส่ฟันหลายซี่ ไม่มีกระดูกด้านประชิดของฟันข้างเคียง ทำให้ Interdental papilla มีลักษณะทู่และสั้น ในบางกรณีอาจต้องใช้เซรามิคสีชมพู (Pink porcelain) ร่วมด้วย นอกจากนี้การฝังรากเทียมห่างกันน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร  จะทำให้เกิดการทำลายของกระดูกระหว่างรากฟันเทียมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Interdental papilla หดสั้นลงไปด้วย ดังนั้นในกรณีที่มีขนาดของช่องว่างจำกัด แต่ต้องใส่ฟัน 2 ซี่ และผู้ป่วยมีความคาดหวังเรื่องความสวยงามสูง อาจต้องพิจารณาทำเป็น cantilever บนรากเทียมซี่เดียว

การทำรากเทียม 2 ซี่เพื่อทดแทนฟันตัดกลางคู่หน้าที่หายไป สามารถทำให้สวยงามได้มากกว่า กรณีฟันตัดกลาง และฟันตัดข้างหายไป หรือกรณีที่ฟันตัดข้างและฟันเขี้ยวหายไป ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ฟันซี่ 11 และ 21 หายไป ทันตแพทย์สามารถใช้การปรับแต่งรูปร่างฟัน ร่วมกับใช้เหงือกที่หนาตัวบริเวณ incisive papilla ช่วยทำให้มีลักษณะคล้าย interdental papilla ได้ แต่หากฟันซี่ 21 และ 22 หายไป การพยายามปรับแต่งรูปร่างฟันเพื่อปิดช่องว่างระหว่างฟันซี่ 21 และ 22 จะทำให้ครอบฟันมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีรูปร่างไม่เหมือนกับฟันซี่ 11 และ 12 ทำให้เกิดความไม่สมมาตรได้

ในกรณีที่ฟันหน้าบนหายไป 4 ซี่ ในกรณีที่ต้องการความสวยงามมากมักเลือกใช้รากเทียมเพียงสองตัว โดยหากฝังที่ตำแหน่งซี่ 11 และ 21 โดยให้ซี่ 12 และ 22 เป็น Pontic อาจจะทำให้ interdental papilla ระหว่างซี่ 11 และ 21 หายไป เนื่องจากรากเทียมที่อยู่ใกล้กันอาจทำให้กระดูกระหว่างรากเทียมละลาย จึงจำเป็นต้องใช้เซรามิคสีชมพูเข้าช่วย แต่หากฝังรากเทียมที่ตำแหน่งฟันซี่ 12 และ 22 จะทำให้คอฟันของฟันซี่ 12 และ 22 อยู่ในตำแหน่งที่ค่อนมาทางด้านใกล้กลาง ไม่เหมือนตำแหน่งของคอฟันซี่ 12 และ 22 ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องอยู่ค่อนไปทางด้านไกลกลาง เพราะการฝังรากฟันเทียมซี่ 12 และ 22 ให้ได้ตำแหน่งของคอฟันอยู่ด้านไกลกลางนั้น จะเป็นตำแหน่งที่ใกล้รากฟันซี่ 13 และ 23 มากเกินไปจนอาจทำให้เกิดอันตรายกับฟันซี่ 13 และ 23 ได้

6.10 ปริมาณของกระดูกและเนื้อเยื่อบริเวณช่องว่างไร้ฟัน
หากช่องว่างไร้ฟันมีปริมาณความหนาของกระดูก ไม่เพียงพอ การเสริมกระดูกในแนวความกว้าง (Horizontal dimension) ด้วยการใช้กระดูกเทียม กระดูกสังเคราะห์ หรือกระดูกของผู้ป่วยเอง ร่วมกับการใช้ membrane เป็นวิธีการที่ค่อนข้างได้ผลดี หรือแม้แต่ในกรณีที่มีกระดูกเพียงพอที่จะฝังรากฟันเทียม แต่ต้องเสริมเหงือกเพื่อให้มีความหนาที่สวยงาม ก็เป็นวิธีการที่มักได้ผลดี ต่างกับกรณีที่ช่องว่างไร้ฟันมีความสูงของกระดูกที่ไม่เพียงพอ การเสริมความสูงของกระดูกเป็นวิธีการรักษาที่ทำได้ยาก เนื่องจากปริมาณของเนื้อเยื่อที่จะใช้นำมาคลุมกระดูกส่วนที่เสริมขึ้นมามักจะมีไม่เพียงพอ ดังนั้นการเลือกใช้กระดูกเทียม หรือกระดูกของผู้ป่วยเอง ก็มักจะได้ผลลัพธ์ด้อยกว่าที่ต้องการ และรูปร่างของฟันที่ใส่บนรากเทียม ก็จะมีความยาวมากกว่าฟันข้างเคียง

Other news

เอกซเรย์ฟันสำคัญอย่างไร?

All about Teeth

ยิ้มนี้จะสวยมากกว่าเดิม ด้วยทันตกรรมปิดช่องฟัน

All about Teeth

สุขภาพฟันเด็ก ฟลูออไรด์ต้องเพียงพอ

All about Teeth

ฟันคุดคืออะไร เป็นปัญหากับคุณจริงหรือ?

All about Teeth

เครื่องมือกันฟันล้มวัยเด็ก สำคัญแค่ไหน?

All about Teeth

ทันตกรรมเพื่อความงามด้วยวีเนียร์ (Veneer)

All about Teeth

Contact us for treatment information or directions

Optimized by Optimole