เอกซเรย์ฟันสำคัญอย่างไร?

ในการมาหาหมอฟันแต่ละครั้งจำเป็นด้วยหรือที่ต้องเอกซเรย์ฟัน เรามีคำตอบค่ะ

การมาพบทันตแพทย์แม้ว่าจะเป็นการมาตรวจฟันครั้งแรกหรือมาพบตามนัดนั้น แต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ฟันทุกครั้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาว่าสมควรต้องส่งเอกซเรย์ฟันหรือไม่ โดยพิจารณาการตรวจในช่องปาก การซักประวัติ ภาพรังสีที่เคยมี การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ (Caries risk assessment) และการประเมินสภาวะสุขภาพช่องปากและร่างกาย นำมาประกอบกันเพื่อพิจารณาความเหมาะสมหรือความจำเป็นในการส่งถ่ายเอกซเรย์ ซึ่งภาพเอกซเรย์ที่ใช้ในทางทันตกรรมนั้นมีหลายแบบ เช่น ภาพรังสีรอบปลายราก ภาพรังสีกัดปีกภาพรังสีปริทัศน์ และภาพรังสีกะโหลกศีรษะ เป็นต้น

กรณีใดบ้าง ที่จะต้องทำการถ่ายภาพเอกซเรย์ฟัน
ภาพเอกซเรย์เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่มีส่วนช่วยทันตแพทย์ในการให้การวินิจฉัยโรค วางแผนการรักษาตลอดจนการติดตามผลการรักษา ภาพเอกซเรย์ฟันจึงมักใช้ประกอบการรักษาทางทันตกรรมต่างๆ เช่น

x-ray-02

การเอกซเรย์ฟันเพื่อถอนฟันหรือผ่าฟันคุด:

ในงานถอนฟันและผ่าฟันคุดนั้นภาพเอกซเรย์มีประโยชน์มากตั้งแต่การวินิจฉัยโรคก่อนถอนฟัน การศึกษารายละเอียดของฟันเช่น ความโค้งงอของรากฟัน ขนาดของรอยผุซึ่งจะส่งผลให้ฟันแตกได้ง่ายขณะถอนฟัน ลักษณะและตำแหน่งของฟันคุดว่าอยู่ใกล้กับกายวิภาคที่สำคัญหรือไม่ เช่น อยู่ใกล้กับโพรงอากาศแก้ม เส้นประสาทขากรรไกรล่าง เป็นต้น และภาพรังสียังใช้ในการติดตามผลการถอนฟันในกรณีที่เกิดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนหลังถอนฟัน เช่น รากฟันหักแผลถอนฟันไม่หาย เป็นต้น

x-ray-03

การเอกซเรย์เพื่อตรวจดูรอยผุของฟันด้านประชิด :

รอยผุบริเวณด้านประชิดนั้นตรวจพบได้ยากโดยเฉพาะรอยผุที่มีขนาดเล็กหรือรอยผุซ้ำใต้ขอบวัสดุ ภาพรังสีกัดปีกจึงมีประโยชน์และเป็นวิธีที่เหมาะสมในการตรวจหารอยผุด้านประชิดควบคู่ไปกับการตรวจในช่องปากนอกจากนี้ภาพรังสีกัดปีกยังช่วยประเมินสุขอนามัยช่องปากของผู้ป่วยอีกด้วย

x-ray-01

การเอกซเรย์ฟันเพื่อการรักษารากฟัน :

ภาพเอกซเรย์ฟันมีบทบาทสำคัญในการรักษาคลองรากฟัน โดยทันตแพทย์ผู้ทำการรักษาจะนำภาพรังสีไปใช้ประเมินว่าฟันซี่นั้นๆสมควรได้รับการรักษาคลองรากฟันหรือไม่ รวมทั้งวางแผนจะทำการรักษาฟันซี่นั้นอย่างไร เมื่อผู้ป่วยถูกวินิจฉัยแล้วว่าจะต้องทำการรักษาคลองรากฟันในขั้นตอนหรือกระบวนการรักษาคลองรากฟัน ผู้ป่วยต้องรับการเอกซเรย์ฟันซี่เดิมหลายครั้ง เช่น ขั้นตอนการประเมินความยาวรากฟัน การลองแท่งวัสดุสำหรับอุดคลองรากฟัน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะต้องมีความละเอียดแม่นยำ เพื่อให้การรักษารากฟันเป็นไปอย่างสำเร็จหลังจากผู้ป่วยรักษารากฟันเสร็จ รวมทั้งบูรณะฟันเพื่อให้ใช้บดเคี้ยวได้เหมือนเดิมแล้วจะต้องมีการเอกซเรย์ฟันเป็นระยะ

x-ray-05

การเอกเรย์ฟันเพื่อการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ :

โรคปริทันต์อักเสบนั้นเกิดได้ทั้งในวัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย ซึ่งมีสาเหตุจากคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบริเวณรอบตัวฟันระยะแรกจะส่งผลให้เหงือกอักเสบ สังเกตได้จากการมีเลือดออกขณะแปรงฟัน หรือเหงือกบวมแดงเป็นต้น ซึ่งในระยะแรกนี้จะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในภาพรังสี เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบ จะพบร่องลึกปริทันต์และการละลายของกระดูกที่หุ้มรอบรากฟัน ซึ่งจะปรากฏในภาพรังสี ภาพรังสีจึงมีประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงของโรคและบอกการทำลายกระดูกในลักษณะต่างๆ รวมถึงระดับของกระดูกที่หุ้มรอบรากฟัน และใช้ในการติดตามผลการรักษา

x-ray-04

การเอกซเรย์ฟันเพื่อการจัดฟัน:

ในงานทันตกรรมจัดฟันนั้นทันตแพทย์ต้องรวบรวมข้อมูลจากทั้งการตรวจภายในช่องปากและภายนอกช่องปากแบบจำลองฟัน รวมถึงภาพรังสีเพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ภาพรังสีสามารถบอกลักษณะของฟัน กระดูกขากรรไกร กะโหลกศีรษะและใบหน้า ซึ่งทันตแพทย์จะนำภาพรังสีเหล่านี้จะมาวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อหาความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆที่ไม่สามารถพิจารณาได้จากการตรวจด้วยสายตาแต่เพียงภายนอก

  • ระหว่างที่ทำการเอกซเรย์ฟันนั้นจะต้องเตรียมตัวอย่างไร?
    ในระหว่างที่ทำการเอกซเรย์ในช่องปาก ผู้ป่วยต้องถอดโลหะบริเวณใบหน้าและภายในช่องปากเช่น แว่นตา เครื่องมือถอดได้ในช่องปาก อาทิฟันเทียมถอดได้ เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ เครื่องมือคงสภาพฟันเป็นต้น หากเป็นการเอกซเรย์นอกช่องปาก ผู้ป่วยต้องถอดสร้อยคอ ต่างหู กิ๊บติดผมออก เพื่อไม่สิ่งเหล่านั้นมาบดบังลักษณะของกระดูกและฟัน ขณะทำการเอกซเรย์ผู้ป่วยต้องอยู่นิ่งที่สุดจนกว่าเสียงสัณญาณของเครื่องเอกซเรย์จะหยุด

 

  • รังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์ฟันนั้นมีอันตรายหรือไม่
    รังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์ฟันคือรังสีเอกซ์ (X-ray) ซึ่งเป็นรังสีชนิดเดียวกับการเอกซเรย์ทางการแพทย์ ส่วนปริมาณรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์ฟันนั้นค่อนข้างน้อยมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณรังสีที่ใช้เอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยในทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามควรเอกซเรย์ฟันเท่าที่จำเป็นตามที่ทันตแพทย์วินิจฉัยว่าสมควรและเมื่อผู้ป่วยมารับการเอกซเรย์ฟัน เจ้าหน้าที่จะต้องสวมเสื้อและปลอกคอกันรังสีให้กับผู้ป่วยทุกครั้งอย่างไรก็ดี ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพช่องปากอย่างง่ายด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งให้สะอาดร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน และควรมารับการตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน – 1 ปี

การเอกซเรย์ฟันแต่ละครั้งต้องได้รับการวินิจฉัตจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เราถึงจะทำการรักษาได้ เพราะหากไม่ได้รับการตรวจที่แน่ชัดบางครั้งการรักษาอาจไมไ่ด้ผลที่ดีเท่าที่ควร ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีที่มากขึ้น การรักษาแบบสมัยใหม่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และประหยัด คุณจึงควรเลือกใช้บริการกับคลินิกทันตกรรม ที่ได้รับการยอมรับและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อฟันของคุณค่ะ

ข่าวอื่นๆ

ยิ้มนี้จะสวยมากกว่าเดิม ด้วยทันตกรรมปิดช่องฟัน

สาระเรื่องฟัน

สุขภาพฟันเด็ก ฟลูออไรด์ต้องเพียงพอ

สาระเรื่องฟัน

ฟันคุดคืออะไร เป็นปัญหากับคุณจริงหรือ?

สาระเรื่องฟัน

เครื่องมือกันฟันล้มวัยเด็ก สำคัญแค่ไหน?

สาระเรื่องฟัน

ทันตกรรมเพื่อความงามด้วยวีเนียร์ (Veneer)

สาระเรื่องฟัน

การรักษารากฟันเด็ก สำคัญหรือไม่?

สาระเรื่องฟัน