การถอนฟัน ถือเป็นหนึ่งในการรักษาสุขภาพช่องปากไว้ค่ะ และแน่นอนว่าเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด แต่เราก็ต้องยอมรับการสูญเสียฟันของเราไปด้วยค่ะ
สภาวะฟันที่ต้องถอน
- ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองปลายรากฟันและมีอาการบวมบริเวณหน้าอย่างมาก ไม่สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมด้านอื่นๆ เช่น การรักษาคลองรากฟัน
- ฟันที่มีโรคปริทันต์รอบๆตัวฟันที่รุนแรงอาจจะร่วมกับการเป็นหนองปริทันต์
- ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุในลักษณะฟันหักหรือขากรรไกรหักผ่านฟันซึ่งทันตแพทย์พิจารณามาแล้ว ไม่สามารถเก็บไว้ได้
- ฟันคุดหรือฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากตามปกติ
- ฟันที่มีพยาธิสภาพ เช่น เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก
- ฟันเกินที่ขึ้นมาในลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบ
- ฟันลักษณะอื่นๆ เช่น ฟันที่มีรูปร่างผิดปกติหรือฟันที่ขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติที่ไม่ได้ใช้งาน
การเตรียมตัวก่อนถอนฟัน
- เตรียมร่างกายให้พร้อมเช่น พักผ่อนหลับนอนให้เต็มที่
- จิตใจพร้อมที่จะถอนฟัน หากท่านกลัวหรือเครียดมากควรบอกทันตแพทย์หากมีโรคประจำตัวควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วย
- รับประทานอาหารแต่พอประมาณ อย่าปล่อยให้หิวมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้เป็นลมได้ง่ายในขณะถอนฟัน
- ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไปเพราะอาจเกิดปัญหาภายหลังถอนฟันได้ เช่น ทางเดินหายใจอุดตันจากการสำลักอาหารซึ่งเป็นปัญหาแทรกซ้อนได้
ผู้มีโรคประจำตัวควรทำอย่างไร
ก่อนทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะทำการสัมภาษณ์ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย วัดความดันโลหิต ตรวจนับชีพจร ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคเลือด ควรบอกให้ทันตแพทย์ทราบอย่างละเอียด โดยเฉพาะผู้ที่มี ประวัติโรคเลือดออกง่าย หยุดยาก ควรถอนฟันภายในโรงพยาบาลเพราะอาจจะต้อง เตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อนถอนฟันเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดภายหลังการถอนฟัน
วิธีการถอนฟันทำอย่างไร
- ก่อนที่จะทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะตรวจประวัติทางการแพทย์และประวัติทางทันตกรรมอย่างถี่ถ้วน และจะทำการเอ็กซ์เรย์ฟัน
- การเอ็กซ์เรย์จะทำให้เห็นถึงความยาว รูปร่างและตำแหน่งของฟันและกระดูกบริเวณรอบๆ ฟัน จากข้อมูลที่ได้ ทันตแพทย์จะสามารถประมาณระดับความยุ่งยากของกระบวนการการถอนฟัน และตัดสินใจว่าจะส่งตัวคุณไปหาผู้เชี่ยวชาญ หรือ ศัลยแพทย์ช่องปาก หรือไม่
- ก่อนทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณรอบๆ ฟันที่จะถูกถอน
- สำหรับการถอนฟันตามปกติธรรมดา เมื่อบริเวณที่จะถอนฟันเกิดอาการชาแล้ว ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องแซะในการทำให้ฟันหลวมจากเหงือก จากนั้นทันตแพทย์จะถอนฟันออกมาด้วยคีมถอนฟัน ทันตแพทย์อาจจะต้องปรับสภาพกระดูกที่อยู่ด้านล่างให้มีความเรียบเนียนขึ้น เมื่อทันตแพทย์ทำการถอนฟันเสร็จสิ้นแล้ว ทันตแพทย์อาจจะทำการปิดแผลด้วยการเย็บแผล
ข้อปฏิบัติหลังการถอนฟันและผ่าตัดฟันคุด
- กัดผ้ากอซให้แน่นพอสมควร 2 ชั่วโมง แล้วคายผ้ากอซทิ้ง หากมีเลือดไหลออกมา ให้วางผ้ากอซใหม่บนแผล แล้วกัดต่ออีก 1 ชั่วโมง
- ขณะกัดผ้ากอซให้กลืนน้ำลายและเลือด ห้ามดูดแผล ห้ามบ้วนน้ำลายเพราะอาจทำให้เลือดออกและหยุดช้า
- ยาชาอาจชาได้ 3-4 ชม.(กรณีทำฟันล่าง)
- เพื่อลดอาการบวมหลังการถอนและการผ่าตัด
ประคบเย็นข้างแก้ม 2 วันแรก วันที่ 3 ประคบอุ่น - แปรงฟันบริเวณแผลด้วยแปรงขนนุ่ม
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามสูบบุหรี่หรือทานอาหารเผ็ดจัด ร้อนจัด
- ต้องทานยาปฏิชีวนะตามทันตแพทย์จ่ายให้ครบ ส่วนยาแก้ปวดทานเมื่อมีอาการปวด
- ห้ามออกกำลังกายหนักเกินควร